สรุปดราม่า “อินโดนีเซีย”โดนริบสิทธิเจ้าภาพฟุตบอลโลก U-20
เป็นข่าวฮือฮาวงการฟุตบอลระดับโลกเมื่อ “อินโดนีเซีย” หนึ่งในประเทศที่ประชากรบ้าฟุตบอลมากที่สุดในโลก โดนริบสิทธิการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก U-20 ไปอย่างเซอร์ไพร้ส์ มาสรุปกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น?
อินโดนีเซีย เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรมุสลิมมากกว่า 270 ล้านคน โดยที่มาของการเป็นเจ้าภาพของพวกเขาเริ่มต้นปี 2019 ตอนที่ฟีฟ่าเปิดให้เสนอตัว ปรากฏว่ามี 5 กลุ่มที่เสนอตัวประกอบด้วย อินโดนีเซีย, เปรู, เมียนมา/ไทย, บาห์เรน/ซาอุดีอาระเบีย/ยูเออี และ บราซิล
ภายหลังไทย/เมียนมา ถอนตัวหันไปสนับสนุนอินโดนีเซีย รวมถึง บราซิล ถอนตัวเพราะเห็นว่าตัวเองมีโอกาสน้อย จึงเหลือแค่ 3 กลุ่ม ก่อนที่ฟีฟ่าประกาศให้ อินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าภาพรายการของฟีฟ่าเป็นครั้งแรก ระหว่าง 20 พฤษภาคม ถึง 11 มิถุนายน 2566คำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไม่ว่าทัวร์นาเมนต์ระดับอายุเท่าไรก็ตามถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แฟนบอลอินโดนีเซียจึงฉลองกันอย่างมีความสุขที่กำลังจะมีศึกชิงแชมป์โลกแข่งในบ้านพวกเขา แต่สุดท้ายมันไม่เกิดขึ้น
ช่วงปลายปีที่แล้ว เกิดโศกนาฏกรรมในฟุตบอลลีกอินโดนีเซียที่แฟนบอลเหยียบกันเสียชีวิต 125 คน แต่ฟีฟ่ายังคงหนุนหลังอินโดนีเซีย แถมยังให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมาตราการด้านความปลอดภัยที่ไม่ต้องการให้เหตุสยองขวัญซ้ำรอย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หยุดยั้งความฝันของแฟนบอลอินโดนีเซียไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวถึงขนาดที่ฟีฟ่ายังต้องยอมให้
ชาติที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมีทั้งหมด 24 ทีม รวมถึงเจ้าภาพอินโดนีเซีย และตัวแปรหนึ่งในนั้นคือ “อิสราเอล” ที่ได้เข้ารอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก
เดิมทีฟีฟ่าและสหพันธ์ฟุตบอลอินโดนีเซีย (PSSI) มีกำหนดการงานจับสลากแบ่งสายที่เกาะบาหลี วันศุกร์นี้ แต่งานจับสลากถูกยกเลิกหลังจาก วายาน คอสเตอร์ ผู้ว่าการเกาะบาหลีปฏิเสธที่จะต้อนรับทีมของอิสราเอล คู่ขัดแย้งของปาเลสไตน์ ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
CNN ระบุว่า ความรู้สึกต่อต้านชาวอิสราเอล พุ่งสูงขึ้นมากในหมู่ชาวมุสลิมอนุรักษนิยมในอินโดนีเซีย
รอยเตอร์ส เผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา กองกำลังอิสราเอลได้จับกุมคนหลายพันในเขตเวสต์แบงก์ และสังหารชาวปาเลสไตน์มากกว่า 200 คน รวมทั้งนักรบและพลเรือน ในขณะเดียวกัน ชาวอิสราเอลมากกว่า 40 คน และชาวยูเครน 3 คน เสียชีวิตจากการโจมตีของชาวปาเลสไตน์
กลุ่มผู้ประท้วงชาวอินโดนีเซียจำนวนมาก โบกธงปาเลสไตน์ และธงอินโดนีเซีย เดินขบวนเรียกร้องให้อิสราเอล หยุดเข้าร่วมในทัวร์นาเมนต์ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนปาเลสไตน์
ขณะที่ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เผยต่อสื่อมวลชนยืนยันว่า ตนสนับสนุนปาเลสไตน์ แต่ก็พยายามวิงวอนประชาชนว่าประเทศต้องทำตามกฎของฟีฟ่าด้วย แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล
รัฐบาลอินโดนีเซีย ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการใดๆ กับอิสราเอล และยังสนับสนุนแนวทางสองรัฐสำหรับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ที่มีมาอย่างยาวนาน
หลังเจอเสียงมหาชนที่คัดค้านอย่างหนัก การจับสลากถูกยกเลิก ฟีฟ่าได้หารือกับ PSSI ฝั่งนึงคือ จิอันนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า และอีกฝั่งคือ เอริค ธอเฮียร์ ประธานสหพันธ์บอลอินโดนีเซีย (เคยเป็นเจ้าของทีมอินเตอร์ มิลาน) และนำไปสู่บทสรุปของการถอดสิทธิของอินโดนีเซียอย่างกะทันหัน
แต่ไม่ใช่แค่ความฝันของแฟนบอลที่จะได้ดูฟุตบอลโลกในบ้านตัวเองพังทลาย ความฝันของนักเตะก็พังทลายเช่นกัน
รับบานี ตัสนิม ซิดดิก กองหน้าชาวอินโดนีเซีย ที่มีกำหนดลงเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้ โพสต์ในอินสตาแกรมโทษนักการเมืองว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว
“เราเสียสละเวลา หยาดเหงื่อ หรือแม้แต่เลือด แต่จู่ๆ มันก็ล้มเหลวเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง”
ขณะที่ อิกนาเชียส อินโดร หัวหน้าสมาคมแฟนบอลอินโดนีเซีย ชี้ว่าเป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่ควรให้การเมืองแทรกแซงวงการฟุตบอล และเกิดความความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน ฟีฟ่า ประกาศเดินหน้าจัดต่อไม่เลื่อนโปรแกรมเดิม แต่จะย้ายสถานที่ และยังไม่สรุปว่าจะเป็นชาติใด.